พลังทั้ง 7 ในศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัว เฮอลีชวน

ตั้งแต่โบราณกาลตราบจนทุกวันนี้ ศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัวแบบมวยจีนได้ถูกแบ่งออกเป็น 2 สายหลัก คือ สายมวยแข็ง และสายมวยอ่อน 

สายมวยแข็ง (เว่ยเจียเฉวียน หรือ อิ้งซื่อเฉวียน) หมายถึง การต่อสู้ป้องกันตัวที่ใช้พละกำลังในรูปแบบที่เห็นได้อย่างเด่นชัด

สายมวยอ่อน (เน่ยเจียเฉวียน หรือ หย่วนซื่อเฉวียน) หมายถึง การต่อสู้ป้องกันตัวโดยใช้หลักกลศาสตร์ และพลศาสตร์ เป็นการต่อสู้ที่อาศัยหลักการหักเหแแรงไม่มีการปะทะโดยตรง ใช้จังหวะหลบหลีกหลอกล่อให้คู่ต่อสู้เสียหลัก จึงเข้าโจมตี

ศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัว เฮอลีชวน HER LI CHUAN FIGHTING เป็นศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัวที่มีทั้งอ่อนและแข็งอยู่ในตัว เป็นศิลปะฯที่ต้องอาศัยความว่องไว และความสัมพันธ์พร้อมเพรียงของมือ และเท้าในการป้องกันตอบโต้ และใช้สมาธิในการรวบรวมพลังที่มีอยู่ในตัวเราเพื่อการจู่โจมอย่างรุนแรง และฉับพลัน อีกทั้งอาศัยแนวแรงสัมพันธ์กับคู่ต่อสู้ เกาะติดการเคลื่อนไหวของคู่ต่อสู้ เพื่อให้คู่ต่อสู้เสียหลัก ศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัว เฮอลีชวน จึงได้กำหนดพลังทั้งหมดออกเป็น 7 อย่าง ดังนี้

1. อิ้งลี่ (พลังธรรมดา Normal power) คือ พลังปกติทางกายภาพ เช่น พลัง หรือกำลังที่เราใช้ทำงาน ยกสิ่งของ เป็นต้น
2. อี้ลี่ (พลังสมาธิจิต Mind power) คือ พลังที่เกิดขึ้นจากการรวบรวมสมาธิ พลังนี้จะเห็นเด่นชัดในขณะที่มีความเชื่อมั่นในการกระทำสิ่งใดๆ
3. เฉินลี่ (พลังโน้มถ่วง Gravity power) คือ พลังที่เกิดจากแรงโน้มถ่วง เป็นพลังธรรมชาติซึ่งเกิดจากแรงดึงดูดของโลก เช่น คนที่หมดสติจะมีน้ำหนักโน้มถ่วงมากกว่าคนที่รู้สึกตัว เป็นต้น
4. ถันลี่ (พลังสะท้อน Rebound power) คือ พลังที่เกิดจากการตอบสนองของกล้ามเนื้อ และเส้นเอ็น หรือเกิดจากการเกร็งของกล้ามเนื้อ และเส้นเอ็นในการปะทะ หรือการชิงจังหวะปะทะ
5. ฉี้ลี่ (พลังลมปราณ Respiration power) คือ พลังแฝงที่อยู่ในร่างกายของคนเรา หรืออีกนัยหนึ่ง เรียกว่า พลังวิญญาณ พลังนี้จะเห็นได้จากการโมโหสุดขีด กลัว หรือตกใจสุดขีด
6. ไต้ลี่ (พลังเหนี่ยวนำ Inducement power) คือ พลังที่เกิดจากการสัมผัสเหนี่ยวนำตามแนวทิศทางของแรงนั้นๆ และเกาะติดตามแรง หรือเหนี่ยวนำแรงนั้นอย่างต่อเนื่อง
7. เสวียนลี่ (พลังอัตราความเร็ว Velocity power) คือ พลังที่เกิดจากการเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็วต่อเนื่อง หรือการเคลื่อนไหวในลักษณะเป็นวงกลมให้เกิดแรงหมุน หรือแรงเหวี่ยง เป็นต้น

พลังทั้ง 7 อย่าง ที่กล่าวมาข้างต้นนี้เป็นหัวใจสำคัญของศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัว เฮอลีชวนอย่างมาก ดังนั้น ผู้ที่ศึกษาวิชาศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัว เฮอลีชวน จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเรียนรู้ และเข้าใจถึงแหล่งที่มาของพลังทั้ง 7 และสามารถนำมาใช้ได้อย่างเป็นรูปธรรมในการต่อสู้ป้องกันตัว อีกทั้งยังสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้อีกด้วย


อาจารย์ เกรียงไกร เถลิงพล ( ลี )